หากถามว่าประเทศไหนที่อยากจะไปเที่ยวสักครั้ง “อเมริกา” จะต้องเป็นหนึ่งในประเทศในใจของใครหลายคนแน่นอน เป็นที่ทราบกันดีว่า การขอวีซ่าอเมริกาเป็นเรื่องยาก และมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้การยื่นวีซ่าถูกปฏิเสธ เราจึงได้รวบรวมขั้นตอนการขอวีซ่าอเมริกา, เอกสารที่จำเป็น, ค่าธรรมเนียมวีซ่าอเมริกา, ระยะเวลาในการยื่น รวมไปจนถึงเคล็บลับการสัมภาษณ์วีซ่า เพื่อให้คุณมั่นใจว่าการขอวีซ่าครั้งนี้ ผ่านแน่นอน!
Table of Contents
ทำความรู้จักวีซ่าอเมริกา เตรียมความพร้อมก่อนยื่น ไม่ให้พลาด!
ก่อนที่เราจะไปดูขั้นตอนการทำวีซ่าอเมริกา เราจำเป็นต้องศึกษาประเภทของวีซ่าให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าประเภทวีซ่าที่ทำการร้องขอ ตรงกับวัตถุประสงค์ในการเดินทางจริงๆ โดยประเภทวีซ่าอเมริกา แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ นั้นคือ
- วีซ่าแบบชั่วคราว (Non-Immigrant Visa)
- วีซ่าแบบถาวร (Immigrant Visa)
สำหรับการท่องเที่ยว และ การเรียนต่อ จะต้องทำการยื่นวีซ่าอเมริกาแบบชั่วคราว ดังนั้นบทความนี้ เราจะเจาะลึกไปที่การขอยื่นวีซ่าอเมริกาแบบชั่วคราวเป็นหลัก
ประเภทวีซ่าอเมริกาแบบชั่วคราว (Non-Immigrant Visa)
สำหรับวีซ่าแบบชั่วคราว จะเป็นวีซ่าสำหรับผู้เดินทางที่มีจุดประสงค์บางอย่างโดยเฉพาะ ได้แก่ การท่องเที่ยว การเรียนต่อ การทำธุรกิจ และ การพำนักอยู่ที่อเมริกาในระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น การยื่นวีซ่า และ การสัมภาษณ์ จำเป็นต้องทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าเรามีวัตถุประสงค์ในการพำนักที่อเมริกาเพียงแค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แล้วจะกลับไทยหลังเมื่ออายุวีซ่าสิ้นสุดลง
ประเภทวีซ่าอเมริกาแบบชั่วคราว แบ่งออกเป็นตามวัตถุประสงค์ได้ดังนี้
- วีซ่าประเภท B-2 สำหรับท่องเที่ยว (ค่าธรรมเนียม 5,440 บาท)
- วีซ่าประเภท B-1 สำหรับทำธุรกิจ สัมนา หรือ ประชุม (ค่าธรรมเนียม 5,440 บาท)
- วีซ่าประเภท C1 สำหรับเดินทางผ่านแดน (ค่าธรรมเนียม 5,440 บาท)
- วีซ่าประเภท F, J และ M สำหรับนักเรียน เช่น นักเรียนโครงการแลกเปลี่ยน และ นักเรียนสายวิชาชีพ (ค่าธรรมเนียม 5,440 บาท)
- วีซ่าประเภท H สำหรับแรงงานชั่วคราวตามฤดูกาล และการจ้างงาน (ค่าธรรมเนียม 6,460 บาท)
- วีซ่าประเภท K สำหรับคู่หมั้นหรือคู่สมรสของชาวสหรัฐฯ (ค่าธรรมเนียม 9,010 บาท)
- วีซ่าประเภท L สำหรับพนักงานที่ย้ายไปทำงานชั่วคราวภายใต้การจ้างงานของบริษัทในเครือเดียวกัน (ค่าธรรมเนียม 6,460 บาท)
*ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมการขอยื่นวีซ่า อาจมีการผันแปรตามค่าเงินในช่วงเวลานั้นๆ
ขั้นตอนการยื่นวีซ่าอเมริกาแบบชั่วคราว
การทำการขอวีซ่าอเมริกา จำเป็นต้องกรอกคำร้อง และ นัดหมายวันสัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ของสถานทูตอเมริกาก่อน โดย
- เข้าเว็บไซต์ ustraveldocs เพื่อศึกษารายละเอียดการทำวีซ่าอเมริกาและเงื่อนไขต่างๆ
- กรอกแบบคำร้องขอวีซ่าชั่วคราว (DS-160) ได้ที่ลิ้ง และพิมพ์ใบยืนยันแบบฟอร์ม
- สร้างโปรไฟล์ส่วนตัว ที่เว็บไซต์ ustraveldocs จากนั้น ให้เลือกประเภทและที่อยู่ในการจัดส่งเล่มหนังสือเดินทาง
- ชำระค่าธรรมเนียม
- จองวันสัมภาษณ์ ซึ่งทำการจองได้หลังจากชำระค่าธรรมเนียม เวลา 12.00 น. ของวันถัดไป
- สัมภาษณ์วีซ่าที่สถานทูต หรือ กงสุลอเมริกาในไทย
- ส่งคืนหนังสือเดินทางทางไปรษณีย์ (หากสัมภาษณ์ผ่าน จะได้เล่มหนังสือเดินทางพร้อมวีซ่า)
แบบฟอร์ม และ เอกสารจำเป็นสำหรับยื่นวีซ่าอเมริกา
เนื่องจากเอกสารประกอบการยื่นวีซ่า เป็นปัจจัยสำคัญที่เจ้าหน้าที่สถานทูตใช้ในการตัดสินว่าคุณมีคุณสมบัติ หรือ ความพร้อมมากแค่ไหนในการท่องเที่ยว และ พำนักที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเอกสารที่เตรียมไปเพื่อสัมภาษณ์ ควรเป็นความจริง และ ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเอกสารบ่งบอกตัวตน, ใบรับรองอาชีพการงาน, จดหมายสถานะทางการเงิน และ เอกสารจำเป็นอื่นๆ
โดยผู้ยื่นวีซ่า ควรเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนทั้งตัวจริง และ สำเนา ดังนี้
- แบบฟอร์มขอวีซ่าอเมริกาออนไลน์ Nonimmigrant Visa Electronic Application (DS-160) ไปที่เว็บเพจ DS-160
- พาสปอร์ตมีอายุอย่างน้อย 6 เดือน นับจากวันสุดท้ายหลังไปพำนักในอเมริกา (ประเทศไทยอยู่ในลิสต์ของ กลุ่มประเทศได้รับยกเว้นเงื่อนไขนี้)
- รูปถ่ายพาสปอร์ตหนึ่งใบ ขนาด 2”x 2” (5 cm x 5 cm) ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน ดูสเปครูปถ่ายขอวีซ่าอเมริกา
- ใบเสร็จค่าธรรมเนียมวีซ่าอเมริกา จำนวน US$160 ดูราคาค่าธรรมเนียมทำวีซ่าอเมริกา เป็นอัตราเงินบาท ที่เว็บนี้
- จดหมายนัดสัมภาษณ์วีซ่าอเมริกา (Interview appointment letter) ท่านได้จองวันสัมภาษณ์วีซ่าอเมริกา ที่เว็บนี้
- เอกสารประกอบ: ผู้ยื่นขอวีซ่าอเมริกา ยื่นเอกสารเพิ่มเติมใดๆต่อเจ้าหน้าที่กงสุลก็ได้ หากเอกสารนั้นเป็นประโยชน์ และสนับสนุนเคสให้มีความแข็งแรง
หมายเหตุ: นอกเหนือจากข้อมูลที่ได้กรอกลงในแบบฟอร์มขอวีซ่าอเมริกาออนไลน์ เอกสารประกอบการขอวีซ่าอเมริกา เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เจ้าหน้าที่กงสุลนำมาใช้ร่วมในการตัดสินใจ โดยเจ้าหน้าที่พิจารณาคำร้องขอวีซ่าแต่ละบุคคลอย่างเป็นอิสระต่อกันภายใต้กรอบกฏหมาย โดยวิเคราะห์อาชีพการงาน ประเมินสถานะทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ การตัดสินใจให้วีซ่าอเมริกาผ่านหรือไม่ เจ้าหน้าที่กงสุลตรวจหาเหตุผลที่แท้จริงของการเดินทางไปอเมริกา ดูภาพรวมของครอบครัว และแผนการใช้ชีวิตระยะยาวในประเทศที่ผู้ขอวีซ่าและครอบครัวมีถิ่นพำนักอาศัยถาวร
* โดยทั่วไป การยื่นเอกสารรับรองการทำงานหรือเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจ หลักฐานการเงินที่ดี สเตทเมนต์ธนาคารที่แข็งแรง และ/หรือเอกสารเกี่ยวกับครอบครัว สิ่งเหล่านี้อาจเพียงพอแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการเดินทางที่แท้จริง ยืนยันถึงเจตจำนงของท่านในการเดินทางกลับประเทศไทยหลังเสร็จสิ้นภาระกิจในอเมริกา การขอวีซ่าอเมริกาอาจผ่านการอนุมัติอย่างไม่มีปัญหาใดๆ
** ควรยื่นหลักฐานแสดงถิ่นพำนักอาศัยถาวรในไทยและความผูกพันต่อประเทศไทย มากกว่าไปเน้นแสดงหลักฐานหรือการรับรองจากครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนของท่านที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา
โปรดระวัง: อย่านำเสนอเอกสารเท็จ การปลอมแปลงเอกสารหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง อาจส่งผลให้ท่านไม่มีคุณสมบัติในการขอวีซ่าอเมริกาตลอดไป โดนขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ห้ามเข้าอเมริกา โปรดตรวจสอบให้มั่นใจว่า ท่านตอบทุกคำถามในแบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่าอเมริกาอย่างครบถ้วนและถูกต้อง ในวันสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่กงสุล คำตอบของท่านต้องสอดคล้องตรงกันกับข้อมูลที่ได้กรอกลงในใบคำร้องขอวีซ่าอเมริกา
- เอกสารสำคัญหรือเอกสารลับเฉพาะใดๆ ควรอยู่ในซองปิดผนึกและประทับตราโดยหน่วยงานผู้ออกเอกสาร สถานทูตหรือสถานกงสุลอเมริกันจะจัดเก็บรักษาข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับและไม่เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว
- เอกสารนำติดตัวไปสัมภาษณ์วีซ่าอเมริกา ควรใช้เอกสารตัวจริง (ถ้ามี) ดูน่าเชื่อถือมากกว่าสำเนา ไม่ส่งเอกสารประกอบใดๆ ทางแฟกซ์ อีเมล์ หรือทางไปรษณีย์ ไปยังสถานทูตอเมริกา (ยกเว้นถูกร้องขอจากสถานทูตเท่านั้น)
เอกสารนำไปสัมภาษณ์วีซ่าอเมริกา
- หลักฐานการเงิน เช่น สเตทเมนต์บัญชีธนาคารย้อนหลังอย่างน้อย 6-12 เดือน จดหมายรับรองธนาคารอัพเดตล่าสุด ผู้ยื่นวีซ่าอเมริกาควรเน้นบัญชีที่มียอดเงินมาก มีการหมุนเวียนที่ดี จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา
*กรณีมีเงินในบัญชีไม่มาก ให้นำเสนอเอกสารอื่นๆ แสดงความแข็งแรงด้านอาชีพการงานหรือธุรกิจ (เช่น มีอาชีพที่มั่นคง มีแหล่งรายได้อื่น หรือมีผู้สนับสนุนด้านการเงินในการเดินทางครั้งนี้) หรือด้านสถานะสังคม (เช่น ขอจดหมายรับรองจากบุคคลสำคัญ ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น ครู แพทย์ หรือนักการศาสนา) สิ่งเหล่านี้อาจสนับสนุนเคสให้แข็งแรงขึ้นได้ (แล้วแต่กรณี case-by-case)
*ผู้ทำวีซ่าอเมริกาควรมียอดเงินในบัญชีเท่าไหร่? มีมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดี แต่บางท่านอาจมีเงินในบัญชีไม่ถึงแสนบาท หรือมีเพียงแสนสองแสนบาท ก็ยังยื่นได้ หากเจ้าหน้าที่กงสุลมั่นใจว่า ท่านมีอาชีพการงานที่ดี มีบ้านพักเป็นหลักแหล่ง มีครอบครัวอบอุ่น มีเงินเพียงพอครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และจะเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อเสร็จภาระกิจในอเมริกา วีซ่าอเมริกาผ่านการอนุมัติได้เช่นกัน - หลักฐานด้านภาษีหรือเอกสารแสดงการเป็นเจ้าของธุรกิจ เช่น สำเนาหนังสือรับรอง รายชื่อผู้ถือหุ้น ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) ใบทะเบียนพาณิชย์ (พ.ค. 0403) ใบทะเบียนการค้า (ท.ค. 0401) เป็นต้น
*ผู้ทำวีซ่าอเมริกาอาจยื่นเอกสารประกอบอื่นๆเช่น โปรไฟล์ธุรกิจ (company profile) เว็บเพจ โบรชัวร์ แผ่นพับ รายงานประจำปี (annual report) ฯลฯ แล้วแต่ความเหมาะสม
**นักธุรกิจผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) ผู้ทำอาชีพอิสระ (freelance) หรือพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย มีเงินหมุนเวียนในบัญชีไม่กี่แสนบาท หากนำเสนอได้ว่า ตนเองทำธุรกิจอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ มีธุรกรรมหรือกิจกรรมการค้าที่แข็งแรงแข็งขันและต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญ และมีความผูกพันกับธุรกิจของตนเอง ที่จะดึงดูดให้เดินทางกลับไทยเมื่อเสร็จภาระกิจในอเมริกา วีซ่าอเมริกาผ่านการอนุมัติได้เช่นกัน
- หลักฐานถือครองอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เช่น สำเนาโฉนดบ้าน อาคาร ที่ดิน เอกสารราคาประเมินที่ดินจากสำนักงานที่ดิน (ใช้ได้เพียงพอ) หรือรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินอย่างย่อ (Evaluation report) รูปถ่ายอสังหาริมทรัพย์ (ใช้รูปถ่ายเป็นภาพประกอบไปด้วย)
*ผู้ขอวีซ่าบางท่านอาจนำเสนอภาพถ่ายบ้านเรือน อาคาร หรือรถยนต์ ฯ ที่ตนเองเป็นเจ้าของไปด้วยก็ได้
**ผู้ขอวีซ่าที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์มูลค่าไม่สูง ตัวอย่างเช่น เป็นเจ้าของกิจการห้องเช่าขนาดเล็ก หากยื่นเอกสารพิสูจน์ได้ว่า มีความรับผิดชอบที่สำคัญต้องดูแลอาคารและผู้เช่า เมื่อเสร็จภาระกิจในอเมริกาแล้วต้องรีบกลับมาประเทศไทย วีซ่าอเมริกาผ่านการอนุมัติได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ควรแนบหลักฐานการเงินที่ดีไปด้วย
- หลักฐานแสดงทรัพย์สินอื่นๆ เช่น จดหมายรับรองจากสถาบันการเงิน แสดงการถือหุ้น พันธบัตร หน่วยลงทุนประเภทต่างๆ หรือ มูลค่าทุนประกันชีวิต เป็นต้น
*ผู้ทำวีซ่าอเมริกาควรแสดงทรัพย์สินและการลงทุนให้มาก เป็นผลดีต่อการทำเรื่องขอวีซ่าอเมริกา
- แผนการเดินทางไปอเมริกาโดยสังเขป เป็นภาษาอังกฤษ
*ผู้ทำวีซ่าอเมริกาอาจจองตั๋วเครื่องบินหรือที่พักไว้ล่วงหน้า โดยจองแบบยังไม่ต้องชำระเงิน หรือแบบขอคืนเงินได้ โดยส่งสำเนาไป (อย่างไรก็ตาม การไม่จองตั๋วเครื่องบินและที่พักไว้ล่วงหน้า ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด)
- จดหมายรับรองงานจากนายจ้าง ชี้แจงตำแหน่งงาน เงินเดือน ระยะเวลาทำงาน เหตุผลการลาไปท่องเที่ยว หรือ วัตถุประสงค์การไปติดต่อธุรกิจในอเมริกา แนบนามบัตรผู้เซ็นจดหมายรับรอง เป็นต้น
*ผู้ทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานธนาคาร พนักงานบริษัทขนาดใหญ่ที่มั่นคง วีซ่าอาจได้รับอนุมัติโดยไม่ยุ่งยากนัก
**ผู้ที่ทำงานกับบริษัทครอบครัวหรือองค์กรขนาดเล็ก นอกจากจดหมายรับรองมีรายละเอียดครบถ้วนดังกล่าวข้างต้น ควรแนบโบรชัวร์-เว็บเพจ-สื่อสิ่งพิมพ์ใดๆที่แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของธุรกิจและงานสำคัญๆที่อยู่ในความรับผิดชอบของท่าน ซึ่งจะดึงดูดให้ท่านเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจในอเมริกา
***หากในอนาคตอันใกล้ มีนัดเรื่องงานประชุม อบรมสัมนา ต้องไปร่วมทริปท่องเที่ยวเดินทาง (ทั้งในหรือนอกประเทศ) ให้ยื่นหลักฐานไปด้วย เพื่อเน้นว่า เมื่อเสร็จภาระกิจในอเมริกาแล้ว จำเป็นต้องกลับมาร่วมกิจกรรมดังกล่าว
- ประวัติอาชญากรรม / เอกสารบันทึกจากศาล (ถ้ามี)
*เฉพาะกรณีมีประวัติถูกจับกุมหรือถูกดำเนินคดีในที่ใดก็ตาม แม้อาจถูกลงโทษ หรือได้รับการอภัยโทษไปแล้วก็ตาม - เอกสารแสดงภาพรวมด้านเศรษฐกิจ การเงิน หรือธุรกรรมการค้า
*ในกรณีนักเรียนนักศึกษา ให้ใช้เอกสารด้านเศรษฐกิจการเงินของผู้ปกครอง
**ผู้เคยมีประวัติการหย่าร้าง (โดยเฉพาะสตรี) ควรยื่นขอวีซ่าด้วยความระมัดระวัง เตรียมเอกสารให้เห็นถึงความแข็งแรงด้านเศรษฐกิจ การเงิน และอื่นๆ เตรียมตอบคำถามสัมภาษณ์วีซ่าอเมริกากับเจ้าหน้าที่กงสุล ให้เชื่อมั่นว่าท่านจะเดินทางออกไปจากอเมริกาแน่นอนเมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจ หากมีผู้เชิญในอเมริกาที่เป็นญาติหรือเพื่อน ควรเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เชิญให้พร้อม เพื่อนำเสนอต่อเจ้าหน้าที่กงสุล
- เอกสารแสดงความผูกพันกับประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแสดงสถานะทางสังคม การมีส่วนร่วมในชุมชนและสังคม บทบาทด้านต่างๆ ของตนเอง ของครอบครัวหรือญาติสนิท โดยชี้ให้เห็นว่า ความผูกพันนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดให้เดินทางออกไป หลังเสร็จสิ้นภาระกิจในอเมริกา
*ตัวอย่างเช่น ผู้ทำงานอาสาสมัคร ช่วยงานชุมชน ช่วยเหลือองค์กรการกุศล ให้ส่งจดหมายรับรอง หรือภาพถ่ายแสดงกิจกรรมต่างๆ ที่แสดงว่า มีภาระหน้าที่สำคัญ ทำให้ต้องกลับมาประเทศไทย
ข้อสังเกตุ: ผู้ทำวีซ่าอเมริกาอาจยื่นรูปภาพประกอบไปด้วย อาจมีประโยชน์เช่นกัน ทำให้เจ้าหน้าที่กงสุลเข้าใจมากขึ้น สำหรับในกรณีเคสมีความซับซ้อน เช่น ผู้เคยยื่นวีซ่าอเมริกาไม่ผ่าน วีซ่าอเมริกาถูกปฏิเสธ หรือผู้ที่การเงินไม่แข็งแรงนัก งานอาชีพอาจไม่มั่นคง เป็นต้น
- เอกสารแสดงประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ เช่น การไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ การอบรม ดูงาน ศึกษาต่อ เรียนหลักสูตรระยะสั้น/ระยะยาว ฝึกงาน เยี่ยมญาติ ในต่างประเทศ (ใช้รูปภาพประกอบได้)
*แม้ผู้ยื่นวีซ่าอเมริกาไม่ได้เดินทางบ่อย หรือไม่เคยเดินทางเลย วีซ่าอเมริกายังมีโอกาสผ่าน หากเจ้าหน้าที่เชื่อมั่นว่า ท่านมีความผูกพันที่แข็งแรงกับประเทศบ้านเกิดเมืองนอน
โปรดสังเกตุ :
*กรณีผู้ขอวีซ่าเคยมีประวัติทำผิดกฏหมายเช่น พำนักอยู่ในอเมริกาเกินกำหนดเวลาได้รับอนุญาต (Overstayed US visas) ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต (Unauthorized employment) มีประวัติอาชญากรรม (Criminal history) ในอเมริกาหรือที่อื่นๆ เช่น คดีเมาแล้วขับ (Driving under the influence) ความผิดลหุโทษ (Misdemeanour) เป็นต้น การขอวีซ่าอเมริกาอาจไม่ผ่าน ถูกปฏิเสธ
**ผู้เคยไปเรียนในอเมริกาหรือต่างประเทศเป็นเวลาหลายปี โดยเน้นโปรแกรมเรียนและทำงานไปด้วย (ตัวอย่างเช่น หลักสูตรประกาศนียบัตร เรียนและทำงานในออสเตรเลีย หรือประเทศอื่นๆ เป็นต้น) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำงานหาเงินหาประสบการณ์ ไม่ได้เป็นนักศึกษาอย่างแท้จริงที่ตั้งใจไปเรียน วีซ่าอเมริกาอาจไม่ผ่านและถูกปฏิเสธได้เช่นกัน ควรยื่นขอวีซ่าด้วยความระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นวีซ่านักเรียน หรือวีซ่าไปท่องเที่ยวอเมริกา
***ผู้เคยไปเรียนหลักสูตรระยะยาวในอเมริกา เรียนจบและกลับมาประเทศไทยแล้ว อาจต้องการไปติดต่อขอรับเอกสารหรือไปติดต่องาน ไปเยี่ยมเพื่อน หรือไปท่องเที่ยวในอเมริกา ควรยื่นเอกสารขอวีซ่าอเมริกาให้แข็งแรงเช่นกัน เพราะเจ้าหน้าที่กงสุลอาจสอบถามว่า เพิ่งเรียนจบกลับมาแล้วทำไมต้องกลับไปอีก ปัจจุบันทำงานที่ไหน ตำแหน่งงานรับผิดชอบอย่างไร มีรายได้เท่าไหร่ เหล่านี้เป็นต้น ฯลฯ และหากเตรียมเคสไม่ดีพอ อาจถูกปฏิเสธวีซ่าได้เช่นกัน
เอกสารเพิ่มเติม
วีซ่านักเรียนอเมริกา ไปเรียนต่ออเมริกา (Students)
ขอวีซ่าอเมริกานักเรียน ให้ยื่นผลการเรียนล่าสุดเช่น ใบรับรอง ทรานสคริปต์ ใบปริญญาบัตร/ประกาศนียบัตร รวมทั้งเอกสารด้านการเงินเช่น จดหมายรับรองและสเตทเมนต์ธนาคารย้อนหลัง หลักฐานแสดงเงินฝากประจำ หุ้น พันธบัตร ประกันชีวิตต่างๆ เป็นต้น
*นำเสนอเอกสารที่ชี้ให้เห็นว่า ท่านมีความตั้งใจไปศึกษาต่อในอเมริกาอย่างแท้จริง เช่น ประวัติการเรียนที่ดีในระดับต่างๆ ประสบการณ์ฝึกอบรม ฝึกงาน ดูงานในประเทศและต่างประเทศ (อาจใช้รูปภาพประกอบได้)
**เขียนเรียงความภาษาอังกฤษโดยย่อ 1-2 หน้า บรรยายประวัติการเรียน การทำงาน และประสพการณ์ต่างๆ ชี้แจงเหตุผลว่า การไปเรียนต่อในสหรัฐอเมริกานั้น จะส่งผลดีต่อการงานและอาชีพในอนาคตอย่างไร หลังจากเรียนจบแล้วเดินทางกลับมาประกอบวิชาชีพในประเทศไทย
วีซ่าทำงานอเมริกา ผู้ต้องการไปทำงานในสหรัฐอเมริกา (Working adults)
จดหมายรับรองงานจากนายจ้าง เอกสารแสดงประวัติการทำงานเช่น ใบสลิปเงินเดือนย้อนหลังอย่างน้อยสามเดือนขึ้นไป เอกสารแสดงประวัติการเรียน การฝึกอบรม ดูงานในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแสดงว่าเป็นผู้มีความรู้มีทักษะในการไปทำงานในอเมริกา ฯ
*เจ้าหน้าที่กงสุล ต้องการความมั่นใจว่า ท่านมีความรู้ มีความสามารถ มีประสบการณ์จริง ในการเข้าไปทำงานในอเมริกา
วีซ่านักธุรกิจและกรรมการบริษัท (Businessmen and company directors)
หลักฐานแสดงตำแหน่งงานของท่านในบริษัท / องค์กรธุรกิจ รวมถึงเอกสารแสดงรายได้ต่างๆ
*ให้ยื่นจดหมายเชิญ หรือเอกสารเกี่ยวกับบริษัท หน่วยงาน หรือองค์กรในอเมริกา ที่จะเข้าไปติดต่อ
วีซ่าเยี่ยมญาติ (Visiting a relative)
หลักฐานแสดงสถานะของญาติในอเมริกาเช่น บัตรกรีนคาร์ด ประกาศนียบัตรสัญชาติอเมริกัน หรือ วีซ่าอเมริกาประเภทใดที่ถือครองอยู่และยังมีอายุ เป็นต้น
*ให้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจ การงาน หรือรายได้ของญาติในอเมริกา เพื่อเสริมให้เคสแข็งแรงมากขึ้น
ผู้เคยเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกามาก่อน (Previous visitors to the United States)
หากเคยพำนักในสหรัฐอเมริกา ให้นำเสนอเอกสารหลักฐานใดๆ ที่แสดงสถานะของท่านในอเมริกา หรือวีซ่าอเมริกาประเภทต่างๆที่เคยมีเช่น วีซ่าท่องเที่ยว วีซ่านักเรียน หรือใบอนุญาตทำงาน
*แม้เคยเดินทางเข้าอเมริกามาก่อน ก็ควรเตรียมเอกสารให้แข็งแรงทั้งด้านการงานการเงิน เตรียมตัวตอบคำถามสัมภาษณ์ให้ดี เพื่อให้เจ้าหน้าที่กงสุลมั่นใจ
วีซ่าผู้ขอรับบริการทางการแพทย์ (Applicants Seeking Medical Care)
หากเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาเพื่อรับบริการทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่กงสุลอาจร้องขอเอกสารเพิ่มเติมดังนี้ (นอกเหนือจากเอกสารข้างต้น)
- ใบผลวินิจฉัยโรคจากแพทย์ อธิบายลักษณะและภาพรวมของความเจ็บป่วย ชี้แจงเหตุผลว่าทำไมต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา
- จดหมายรับรองจากแพทย์หรือหน่วยงานทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ยืนยันความประสงค์ที่จะให้บริการรักษาโรคดังกล่าว มีรายละเอียดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น (ค่าดำเนินการของแพทย์ ค่าโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ)
- เอกสารสนับสนุนด้านการเงินจากบุคคลหรือองค์กร ที่รับรองว่าจะดูแลค่าใช้จ่ายการเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายระหว่างที่ท่านพำนักในอเมริกา หากบุคคลธรรมดาเป็นผู้รับรอง ให้แสดงหลักฐานด้านการเงินเช่น จดหมายรับรองธนาคาร หรือเอกสารแสดงรายได้/เงินฝาก หรือเอกสารการเสียภาษี (ตัวจริง) หากหน่วยงานหรือองค์กรเป็นผู้รับรอง ให้ใช้เอกสารลักษณะเดียวกัน
*ควรยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อยครบถ้วน ระหว่างการสัมภาษณ์ ตอบคำถามให้ชัดเจน เพื่อเจ้าหน้าที่กงสุลมีความมั่นใจ